วันศุกร์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ประวัติความเป็นมาของจักรยาน BMX ทำความรู้จักถึงความเป็นมา ต้นกำเนิด

จักรยานสองล้อรุ่นแรก ๆ ที่เป็นต้นแบบของจักรยานสองล้อในปัจจุบันมีกำเนิดขึ้นครั้งแรกเมื่อราวปี พ.ศ. 2343ในปี พ.ศ. 2408  ได้มีการผลิตจักรยาน 2 ล้อ รุ่นหนึ่งซึ่งมีตัวล้อเป็นเหล็ก  และมีขอบล้อทำด้วยไม้  กำลังเคลื่อนล้อได้มาจากแรงปั่นด้วยเท้าบนบันไดทั้งสองของรถจักรยาน  เหมือนกับในรถสามล้อถีบปัจจุบัน  ในช่วงต่อมาได้มีการใช้ล้อทำด้วยยาง    และในราวปี พ.ศ. 2423-2433  ขนาดของเส้นผ่านศูนย์กลางล้อหน้าได้ขยายใหญ่ขึ้นถึง 60  นิ้ว  ซึ่งทำให้มันสามารถเคลื่อนที่ได้เป็นระยะทางถึง 16  ฟุต จากการปั่นบันไดรถจักรยานหมุน 1 รอบ  อันมีผลให้มันสามารถวิ่งได้ด้วยความเร็วสูง  ทั้งในแนวราบและวิ่งลงเขาแต่สำหรับการขี่ขึ้นทางชันนั้นจะต้องออกแรงเป็นอย่างมาก นอกจากนั้นการที่จุดศูนย์ถ่วงของตัวจักรยานอยู่สูงทำให้มันมีแนวโน้มที่จะพลิกคว่ำหรือเกิดอุบัติเหตุได้โดยง่าย  ดังนั้น  ในราวปี พ.ศ. 2428  จึงได้มีการผลิตจักรยานรุ่นใหม่ที่มีรูปลักษณะเหมือนจักรยานสมัยใหม่ในปัจจุบัน  คือ ล้อทั้งสองมีขนาดเท่ากัน  และมีเฟืองที่บันไดรถ  เพื่อถ่ายทอดกำลังผ่านโซ่ไปยังล้อหลัง  ทำให้เกิดลักษณะการขับขี่มั่นคงกว่าเดิม  และยังให้อัตราทดกำลังด้วยการเลือกใช้เฟืองทดกำลังที่เหมาะสมสำหรับขับขี่โดยเฉพาะด้วยความเร็วต่ำแต่เบาแรงกว่าในขณะปั่นขึ้นเขาหรือทางชัน

จักรยานBMXเกิดขึ้นประมาณยุค 70  ในทางตอนใต้ของคาลิฟอร์เนีย โดยกลุ่มเด็กกลุ่มหนึ่งได้ปรับแต่งจักรยานขนาดล้อ 20นิ้ว ซึ่งพวกเขาได้แรงบรรดาลใจจากการชมภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับการแข่งขันจักรยานยนต์  Motocass  แล้วทำให้เป็นที่นิยมกันมากในตอนนั้น    การแข่งขันจักรยานวิบากแบบ BMX (Bicycle Moto Cross)    ที่มีวงล้อขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 20 นิ้ว ในประเภทความเร็ว(Racing) ได้เป็นที่นิยมกันมากในประเทศสหรัฐอเมริกาและได้แพร่ขยายไปทั่วโลกในเวลาอันรวดเร็ว   หลังจากนั้นไม่นานนักขี่หลายๆคนได้ฝึกท่าทางพลิกแพลงผาดโผนในแบบต่างๆ เพื่อความสนุกสนาน และใช้โชว์ออฟกันในกลุ่มเพื่อนๆ ทั้งยังเป็นการฝึกทักษะในการควบคุมรถได้อย่างดี และเมื่อมีโอกาส ก็มักจะได้นำท่านั้นมาออกโชว์กันในช่วงพักของการแข่งขัน หรือในการโปรโมท์ ให้กับสปอนเซอร์ของตน ซึ่งจะเรียกความสนใจจากผู้คนได้ดีทีเดียว ต่อมาเมื่อมีท่าทางหลากหลายมากขึ้น   นักขี่หล่าวนั้นได้หันมาเน้นฝึกแต่ท่าพลิกแพลง(Tricks)  อย่างจริงจัง
จนกระทั่งได้กลายเป็นกีฬาประเภทใหม่ที่เน้นฝึกเฉพาะแต่ท่าผาดโผนอย่างเดียว  และได้พัฒนาท่าพลิกแพลงเหล่านี้ให้มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

สิ่งที่น่าสนใจคือ ในยุคนั้นท่ายังไม่มีมากนัก จึงมีการคิดค้นลีลาต่างๆ ออกมาใหม่ ตลอดเวลา นักขี่แต่ละคนจะมีท่าเป็นของตนเอง ไม่ค่อยจะซ้ำกันนัก นักขี่กลุ่มนี้จึงถูกขนานนามว่า "Freestyler" และได้เริ่มมี การจัดการแข่งขันเฉพาะทางขึ้น นักขี่ที่มีชื่อที่สุด
คนหนึ่งในช่วงนั้น คือ Bob Haro ซึ่งถือได้ว่าเป็น "Father of Freestyle"
(ปัจจุบันเป็นเจ้าของบริษัทจักรยานที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดบริษัทหนึ่ง)

ในราวปี 1985 เป็นต้นมา ทางบริษัทผู้ผลิตจักรยานหลายๆราย ได้มีการผลิตอะไหล่ ที่ทำไว้สำหรับการเล่นท่า Freestyle ได้แก่ตัวถังที่มีที่ยืนตรงหลักอาน, ที่ยืนตรงแฮนด์, ที่ยืนตรงแกนล้อ และตะเกียบฯลฯ  การจัดแข่งขันเริ่มมีมากขึ้นมีการรวมตัวนักขี่ผาดโผน จัดตั้งเป็นทีม Freestyle  อย่างเต็มรูปแบบ ในช่วงนี้เอง ที่สมาคม AFA(American Freestyle Association) ได้เข้ามาผูกขาดในการจัดแข่งขันครั้งใหญ่ๆ นักขี่เอือมกับกติกาหยุมหยิม เช่น Flatland ก็ให้ใส่หมวกกันน๊อก และกรรมการเป็นคนธรรมดาไม่รู้จักการให้คะแนน โดยเฉพาะท่ายากๆหรือท่าใหม่ๆ  แบนนักขี่ที่ไปแข่งงานอื่น  จัดแบ่งรุ่น(Class)ละเอียดยิบ ซึ่งนอกจากจะแบ่งตามรุ่นอายุ ยังมีรุ่นสมัครเล่น(Amateur) และรุ่นมืออาชีพ(Pro) ซึ่งนักขี่จะลงได้หลายรุ่น ปัญหาจึงอยู่ที่คนที่มีฝีมือดียังไม่ยอม Turn Pro ง่ายๆเพราะยังหวงตำแหน่งอยู่ต่อมาในยุค 90  AFA ยกเลิกการจัดแข่ง ทำให้วงการเงียบเหงาไปพักหนึ่ง แต่ก็ได้ Mat Hoffman ซึ่งเป็นนักขี่ ได้ริเริ่ม จัดงานแข่งขึ้นเองชื่อ Bike Stunt Series หรือ BS ซึ่งเป็นการปลุกผีวงการขึ้นมาอีกครั้ง และได้ประสบความสำเร็จอย่างสูง จนกระทั่ง ESPN ช่องกีฬายักษ์ใหญ่ได้มาติดต่อขอซื้อรายการต่อ  จัดให้มีการนำภาพจากการแข่งไปออกอากาศทั่วโลก และต่อมาได้รวบรวมกีฬาสุดขั้วหรือ Extreme Sports เข้าไว้ด้วยกันภายใต้ชื่อ “X-GAMES”



วันพุธที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2556

กีฬาเอ็กซ์ตรีมแนวใหม่สุดท้าทาย Free Running
อนัน อันวา กับกีฬาเอ็กซ์ตรีมแนวใหม่สุดท้าทาย Free Running

อนัน อันวา กับกีฬาเอ็กซ์ตรีมแนวใหม่สุดท้าทาย Free Running (GM)
เรื่อง : ชนานันทน์ สุนทรนนท์ ภาพ : พิชญตม์ คชารักษ์, อนุวัตน์ เดชธำรงวัฒน์ ผู้ช่วยช่างภาพ : ธีระวัฒน์ พวงศรี

แม้พักหลัง ๆ เราจะไม่ค่อยได้มีโอกาสเห็นหน้าค่าตาหรือผลงานในวงการบันเทิงของ "อนัน อันวา" กันสักเท่าไหร่ แต่เชื่อว่ายังมีแฟน ๆ ของหนุ่มคนนี้อยู่อีกจำนวนไม่น้อย ที่เฝ้ารอผลงานของเขาอยู่ ซึ่งวันนี้เราได้นำข้อมูลจากนิตยสาร GM ที่ได้ไปพูดคุยกับอนันเกี่ยวกับความสนใจในกีฬาเอ็กซ์ตรีมที่เขาและเพื่อน ๆ ชาวต่างชาติ ได้รวมตัวกันในนาม ทีมฝรั่ง (Farang) ซึ่งตั้งขึ้นมาเพื่อทำกิจกรรม "ฟรี รันนิ่ง" (Free Running) หากใครยังไม่ทราบว่าไอ้เจ้ากีฬาชนิดนี้มันเป็นยังไง เอาเป็นว่าลองไปทำความรู้จักพร้อม ๆ กันเลยดีกว่าครับ

มารู้จักกับ Team Farang กันก่อนดีกว่า
คนไทยเราอาจจะรู้จักแต่ อนัน อันวา และพอรู้มาบ้างว่าเขาเล่นฟรีรันนิ่งมาจนเชี่ยวชาญ แต่ยังไม่รู้จักเพื่อนสนิทของเขา นักฟรีรันนิ่งขั้นเทพ เก่งจนแข่งขันติดระดับโลก เจสัน พอล (Jason Paul) นักกีฬาระดับโลกของเร้ดบูล หนุ่มวัย 21 ปีจากประเทศเยอรมนี, ฌอน วู้ด (Shaun Wood) หนุ่มผมทอง จากประเทศออสเตรเลีย พวกเขาทั้ง 3 คน ที่มารวมตัวตั้งทีมฟรีรันนิ่งสุดคูล ในนาม "Team Farang" (ทีมฝรั่ง)

น่าแปลกใจที่หนุ่มทั้ง 3 คนมาจากต่างสังคมต่างวัฒนธรรม แต่กลับมีรสนิยมเดียวกัน และมีจุดเริ่มต้นเหมือนกันเป๊ะ คือพวกเขาต่างก็เริ่มต้นจากการเปิดดูคลิปวิดีโอฟรีรันนิ่ง ของดาวิด เบลในภาพยนตร์แอ็คชั่นไซไฟ B13 หลังจากนั้นก็เริ่มออกภาคสนามไปฝึกซ้อมก่อนแข่งขันในประเทศและต่างประเทศเพื่อชาร์จพลังความตื่นเต้นให้กับตัวเอง และทำให้พวกเขาทั้ง 3 คนได้รู้จักกัน

Extreme Spirit

ทุกคนที่ได้ดูการเล่นฟรีรันนิ่ง จะต้องสงสัยใคร่รู้ทำไมพวกเขาจึงต้องทำอะไรพวกนี้ โดยเฉพาะเวลาที่เราได้เห็นพวกเขากระโดด วิ่ง และทะยานอยู่บนอากาศ หล่นลงมาจากที่สูง พวกเราเกือบหยุดหายใจ

ทั้ง 3 คนเริ่มต้นด้วยการตอบกวน ๆ ตามสไตล์วัยรุ่นว่าเพราะสิ่งนี้ทำให้พวกเขาดูเท่และเทพในคนหนุ่มมาก แต่พวกเขาก็ช่วยขยายความเพิ่มเติม ว่าสิ่งสำคัญกว่าที่พวกเขาได้รับจากกีฬาชนิดนี้คือ ร่างกายและจิตใจ

"ความมั่นใจคือสิ่งสำคัญที่สุดครับ และก่อนที่จะกระโดดแต่ละครั้ง เป็นเหมือนการด้นสด มีการคิดคำนวณไว้ก่อนหน้ามาบ้าง มีทิศทางในหัวที่เราร่างเอาไว้ หลังจากนั้นทั้งสายตา กล้ามเนื้อสมองมันจะทำงานอัตโนมัติ เหมือนกับการเล่นเกมคอมพิวเตอร์ ที่คุณวางแผนไว้ก่อนว่าจะไปทางไหนเพียงแค่ว่า นี่มันคือของจริง" เราคุ้นเคยกับสำเนียงลูกครึ่งและความเป็นมิตรของ อนัน อันวา

หากถามว่าพวกเขาเคย "พลาด" บ้างไหม? จากสิ่งที่เขาได้ตอบเรามา แน่นอนว่าต้องเคย และมีตัวอย่างให้เห็นกันอยู่บนร่างกาย แต่อย่างไรเสียพวกเขาอนุญาตให้มันเกิดขึ้นในระดับการซ้อมเท่านั้น

The Great Leap Forward

เราสงสัยว่ากีฬาเอ็กซ์ตรีมพวกนี้ มีวันหมดอายุหรือเปล่า แน่นอนว่าตอนนี้พวกเขายังหนุ่มยังแน่น กำลัง "Top Form" พวกเขาจะเล่นกีฬาชนิดนี้ไปจนถึงเมื่อไหร่ ?

เจสันตอบแบบไม่ต้องคิดว่า "อาจจะพรุ่งนี้นะ เพราะคนมองว่าเป็นกีฬาเสี่ยง และดูเหมือนพวกเราพร้อมที่จะเสี่ยงตายทุกวัน (หัวเราะ)" ส่วนฌอนบอกว่า "ในอนาคต เราอาจจะเล่นอยู่ แต่วิธีการเล่นอาจจะเปลี่ยนหรือช้าลง"

ก่อนที่อนันจะช่วยขยายความคำตอบของทุกคนว่า "ตอนอนันเล่นที่ชิดนีย์ (เขาไปเรียนต่อที่นั่น) อนันก็ฝึกฟรีรันนิ่งด้วย ก็เห็นมีเด็กตั้งแต่อายุ 12-13 ขวบไปจนถึงคนที่อายุ 30-40 ปีมาฝึก แม้แต่เดวิด เบลคนที่ทำให้ฟรีรันนิ่งเป็นที่รู้จัก ตอนนี้ก็ประมาณ 40 ปีแล้ว เขาเองก็ยังเล่นอยู่จนถึงปัจจุบัน แต่ที่เราเห็นตามวิดีโอกีฬาเอ็กซ์ตรีมว่ามีแต่สตันท์เด็ก ๆ หรือวัยรุ่นมาเล่น เพราะคนที่ชอบทำวิดีโอฟรีรันนิ่งเป็นวัยรุ่น และเป็นคนเล่นกลุ่มอายุเดียวกัน (ฟรีรันนิ่ง มักมาพร้อมกับวิดีโอที่เต็มไปด้วยการโชว์ความสามารถฉากแอ็คชั่น ในสถานที่ที่พวกเขาเดินทางไป) แต่พอเราเห็นว่ามีคนเล่นหลายรุ่น ก็อยากจะเล่นไปเรื่อย ๆ ถ้าทำได้ ถ้ามาเจอกันอีกทีตอนอายุ 40 เราก็อาจจะยังเล่นอยู่นะ ไม่มีใครรู้"

WHAT IS FREE RUNNING?
กระโดดจากตึกสูงไปยังอีกตึกข้างเคียงกัน แล้วกระโดดจากตึกไปยังสะพานที่อยู่เบื้องล่าง ก่อนลงถึงพื้นด้วยการม้วนหน้าไปสองตลบ และลุกขึ้นมาวิ่งต่อได้สบาย ๆ นึกภาพตามนี้ ก็คงเข้าใจแล้วว่าฟรีรันนิ่งคืออะไร

ฟรีรันนิ่ง (Free Running) หรือปาร์กัวร์ (Parkour) 2 คำนี้ถูกนำมาใช้แทนกันได้ ปาร์กัวร์ ที่มีต้นกำเนิด และเป็นที่นิยมในประเทศฝรั่งเศส มีจุดเริ่มต้นจากการฝึกความคล่องแคล่วในการทหาร เน้นการเอาชนะ อุปสรรคยาก ๆ อย่างการกระโดดและปีนป่ายด้วยท่าทางธรรมชาติ ไม่ต้องเน้นท่าสวย แต่ต้องมีประสิทธิภาพในสถานการณ์จริง

อนัน อันวา กับกีฬาเอ็กซ์ตรีมแนวใหม่สุดท้าทาย Free Running

GET TO KNOW THEM
Jason Paul (เจสัน พอล)

เริ่มฝึกปาร์กัวร์ตั้งแต่อายุ 14 ปี ไม่นานเขาก็ได้ กลายมาเป็นดาวเด่นในวงการฟรีรันนิ่งของประเทศเยอรมนีและระดับโลก ในปี 2010 เจสันได้รับรางวัลชนะเลิศในการแข่งขันของแมคโดนัลด์วิดีโอคอนเทสต์และมีชื่อเสียงอย่างมาก เรื่องราวของเขาถูกนำเสมอใน Jump นิตยสารออนไลน์เกี่ยวกับฟรีรันนิ่งและปาร์กัวร์ฉบับแรก และได้รับความสนใจจากแบรนด์ดังไม่ว่าจะเป็น โซนี่ รีบ็อก ซีเมนส์ ไรโนส์

Shaun Wood (ฌอน วู้ด)

ดาวเด่นของวงการปาร์กัวร์ในประเทศออสเตรเลีย เขาถูกทาบทามจากแบรนด์ดังต่าง ๆ อย่าง บีเอ็มดับเบิลยู โซนี่ โนเกีย และดิสนีย์ และในปี 2009 ชอนเป็นชาวออสเตรเลียคนแรก ที่สร้างชื่อให้ประเทศของเขาใน Barclay Free Running World Championships ต่อด้วยการแข่งขัน Red Bull Art of Motion ในสวีเดน และปัจจุบันนอกจาก "Team Farang" เขายังเป็นส่วนหนึ่งของทีม "Trace’s Element" ทีมปาร์กัวร์ที่มีชื่อเสียงที่สุดของประเทศออสเตรเลีย

Anan Anwar (อนัน อันวา)

ลูกครึ่งอินโดนีเซีย-สก็อตแลนด์ เติบโตในกรุงเทพฯ และถ้าย้อนกลับไป เราหลายคนรู้จักเขาดีในฐานะป๊อปสตาร์แห่งค่ายอาร์เอสตั้งแต่อายุ 12 ปี อนัน ยังเป็นนักแสดง นายแบบ และยังมีกิจกรรมสนุก ๆ อีกมากมาย โดยเฉพาะกีฬาเอ็กซ์ตรีมสารพัดอย่างที่เขาลงมาเล่นอย่างเอาจริงเอาจัง เขาร่วมการแข่งขัน เอเซียนเอ็กซ์เกมรุ่นเล็กตั้งแต่อายุ 13 ปี และได้รับการสนับสนุนจากสปอนเซอร์ในการแข่งขันกีฬาเวคบอร์ด ก่อนจะเดินทางมาถึงฟรีรันนิ่ง และทำให้ปัจจุบันเขาเลือกที่จะทำงานเกี่ยวกันฟรีรันนิ่งอย่างจริงจัง

HOW TO START

"แค่ออกไปข้างนอก และก็กลับไปเป็นเหมือนเด็กอีกครั้ง ปืน วิ่ง ข้าม กระโดด ให้มีความสุขสนุกกับตัวเอง ฝึกง่าย ๆ ว่า จากตรงนี้ เราจะไปถึงอีกจุดหนึ่งยังไง และให้ปลอดภัยด้วย เริ่มจากเล่นง่าย ๆ เตรียมพร้อมร่างกายก่อน แต่ถ้าอยากไปถึงอีกระดับ การมีครูสอนก็ช่วยเยอะ เหมือนกันในเรื่องเทคนิค แต่ถ้าไม่มี ก็ไม่เป็นไรครับ เพราะเรามีครูอีกเยอะในอินเทอร์เน็ต และสำคัญที่สุดคือการซ้อมครับ" อนัน อันวา







ชีวิต ชาว B-Boy
ความจริงแห่งชีวิตของชาว B-Boy
ลีลาการเต้นของเหล่า B-Boy


ถ้าจะเอ่ยถึง กิจกรรมของวัยรุ่นในปัจจุบันนั้นล้วนมีมากมายหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นกีฬา การเล่นเกม ดูทีวี เป็นต้น แต่โดยส่วนใหญ่แล้ววัยรุ่นจะชอบทำกิจกรรมที่ท้าทายความสามารถ แปลก แหวกแนว ไม่ซ้ำแบบใคร
มีความเป็นตัวของตัวเองค่อนข้างสูง ไม่มีกฎเกณฑ์ที่แน่นอนตายตัว

ทั้งนี้ หนึ่งในกิจกรรมที่วัยรุ่นเลือกและสามารถที่จะตอบโจทย์ให้กับพวกเขาได้ นั่นคือ การเต้น B-Boy ที่ถือได้ว่าเป็นหนึ่งกิจกรรมที่วัยรุ่นทั้งชายและหญิงนิยมกันมาก โดยจะมีการจับกลุ่มกันเพื่อฝึกการเต้นตามจุดนัดพบต่างๆ
ถือเป็นกิจกรรมที่เป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์

การเต้น B-Boy คือ การเต้นที่ต้องใช้พละกำลังมาก ใช้ท่วงท่าที่ดูหนักหน่วง และดูเป็นธรรมชาติที่สุด โดยการเต้นมักจะใช้ท่าสเต็ปเท้าเป็นหลัก ส่วนท่ามือไม่ได้ใช้กันแต่มักจะปล่อยเป็นฟรีสไตล์ทำให้การเต้นดูมีความพลิ้ว
ไหวมากขึ้น และลำตัวจะปล่อยไปตามธรรมชาติ ส่วนท่าหมุนต่างๆ มักใช้หลักการหมุนตามธรรมชาติมาช่วย ฉะนั้นการเต้น B-Boy จึงเป็นการผสมผสานส่วนต่างๆ ของร่างกายตั้งแต่ศีรษะ ลำตัว มือ เท้า เข้าด้วยกัน

ถ้าเป็นนักเต้นที่เป็นผู้ชาย ศัพท์แสงที่ใช้ ก็คือ B-Boy ส่วนผู้หญิงจะเรียกว่า B- Girl อย่างไรก็ตาม ปัญหาใหญ่ชาว B-Boy ก็คือ คนทั่วไปมักจะมองนักเต้นเหล่านี้ว่าเป็นเด็กที่ไม่ดี ไร้การศึกษา จับกลุ่มมั่วสุมกัน ทำกิจกรรม......

ประวัติกีฬา Extreme Sports บุกโลก

เราเห็นภาพในทีวีที่เด็กในโลกตะวันตกเล่น skateboard บนพื้นที่เป็นคลื่น ตีลังกาผกโผนในอากาศ หรือไม่ก็วิ่งพุ่งลงจากเนินเขา หรือเล่นโดดข้ามตึกเหมือนภาพยนตร์ตำรวจจับขโมย หรือเล่นสกีบนหิมะด้วยเท้าเปล่า ฯลฯ กีฬาท้าทายอันตรายต่างๆ เหล่านี้กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นทุกทีโดยเฉพาะในประเทศอังกฤษ

กีฬา เช่น ฟุตบอล รักบี้ เทนนิส คริกเก็ต กำลังได้รับความนิยมลดลงในหมู่วัยรุ่นอังกฤษ เพราะกีฬาใหม่ๆ ที่เรียกว่า extreme sports (กีฬาที่โลดโผนสุดโต่งหรือเสี่ยงอันตราย) กำลังมาแทนที่ และดูทีท่าจะระบาดไปในผู้ใหญ่ด้วย


extreme sports ใหม่ๆ เช่น canyoning (ปล่อยตัวให้ลื่นไหลตามกระแสน้ำในลำธารเหมือนเล่น slider) base jumpin (โดดลงมาจากตึกหรือหน้าผาโดยมีเชือกผูกติดคล้าย bungee jumping) และ wake-boarding (เล่นเสิร์ฟบนคลื่นที่จงใจสร้างขึ้นโดยใช้เชือกโยงตัวคนเล่นกับเรือยนต์ และปล่อยออกให้ surf บนคลื่นที่เกิดหลังเรือยนต์) กำลังจะมาบดบังกีฬาที่ได้รับความนิยมแต่ดั้งเดิม

จากการสำรวจในปี 2003 ของ New Research for Sport England (หน่วยงานให้บริการและเงินทุนเพื่อสนับสนุนกีฬาของอังกฤษ) พบว่า หนึ่งในเจ็ดของผู้ใหญ่เคยเล่นกีฬาที่ผจญภัยและเสี่ยงอันตราย สัดส่วนของผู้ใหญ่ที่เล่นกีฬาลักษณะนี้อย่างน้อยหนึ่งอย่างเป็นประจำเพิ่มขึ้นหนึ่งเท่าตัวระหว่างปี 2001 ถึง 2003 และนับเป็นสัดส่วนร้อยละ 5 ของการเล่นกีฬาทั้งหมด

ภาคเอกชนของเมืองต่างๆ ในอังกฤษจึงตอบสนองความต้องการเล่น extreme sports ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ด้วยการสร้างสนามกีฬาสำหรับ extreme sports ขึ้นโดยเฉพาะ เมือง Middlesbrough จะสร้างบึงน้ำขนาดใหญ่สำหรับ surfing, wake-boarding, สกีน้ำ รวมทั้ง ร้านขายของ ที่พักอาศัย และสำนักงาน

เมือง Manchester กำลังสร้างศูนย์กีฬาผจญภัยที่เรียกว่า Venture Extreme มูลค่า 59,000 ล้านบาท โดยสร้างถ้ำและหน้าผา (เพื่อปีนป่าย คลานรอด) สร้างศูนย์เล่น surfing สร้างกำแพงน้ำแข็งให้ปีนป่าย ฯลฯ ภาคเอกชนในเมือง Cardiff ก็กำลังสร้างสถานที่เล่นกีฬาผจญภัยเกี่ยวกับน้ำ น้ำแข็ง และหิมะ มูลค่า 50,000 ล้านบาท

บริษัทใหญ่เครือ Extreme Group ของอังกฤษวางแผนจะเปิดศูนย์ extreme sports ในเมืองต่างๆ ให้เป็นสวนเล่นกีฬาชนิดที่เน้นการออกกำลังและการผจญภัยโดยเรียกว่า Ex Parks (ผู้ว่าฯ อภิรักษ์น่าริเริ่มสวนกีฬาแบบนี้ และปล่อยให้นายกฯ ทักษิณลงมาปราบมาเฟียโบ๊เบ๊ซึ่งเป็นชื่อมาเฟียพันธุ์ใหม่ที่โลกเพิ่งรู้จักไปแล้วกัน)

หน่วยงานของทางการอังกฤษดังที่เรียกว่า New Research for Sport England ถูกขอเงินอุดหนุนมากมายจากทั่วประเทศเพื่อสร้างกำแพงสำหรับปีนเล่น (ดังเช่นที่ไนท์บาซาเชียงใหม่ พัทยา หรือศูนย์การค้าหลายแห่งในกรุงเทพฯ) สวนเล่น skate หรือสนามเล่นกีฬาเกี่ยวกับหิมะหรือน้ำแข็งในร่ม ฯลฯ

งานวิจัยสำรวจความคิดเห็นประชาชนของ Brighton University พบว่าประชาชนมีความสนใจใน extreme sports ยิ่งขึ้นทุกวัน มีผู้ใหญ่ร้อยละ 12 (ประชากร 5.8 ล้านคน) ปรารถนาที่จะเล่น extreme sports ถึงแม้จะรู้ว่ามีความเสี่ยงที่จะประสบอุบัติเหตุร้ายแรงหรือตาย
งานวิจัยพบอีกว่า ในปัจจุบันมีผู้ใหญ่จำนวนมากที่ชอบ moutain biking (ขี่จักรยาน ภูเขา) เช่นเดียวกับตกปลา ขี่ม้า เล่นเรือใบ ยิงปืน นอกจากนี้ Canoeing (พายเรือแคนู) และ Kayaking (พายเรือลำยาวที่มีแผ่นเปิดตัวเรือ โดยพายล่องไปตามกระแสน้ำ) ก็มีจำนวนผู้นิยมใกล้เคียงกับตกปลาที่เป็นกีฬายอดนิยมทีเดียว

อะไรทำให้ผู้คนหันเหสู่กีฬาประเภท extreme sports ?
ในยุคของการปลดปล่อย (liberalization) การเล่นกีฬาที่มีกฎกติกาบังคับเป็นความกดดันอย่างหนึ่งที่คนจำนวนมากในยุคนี้ ไม่ชอบ extreme sports ให้ความตื่นเต้นแปลกใหม่แก่ชีวิต ชัยชนะขึ้นอยู่กับตนเอง และตนเองเป็นคนให้คำจำกัดความ (หากเล่นฟุตบอล ชัยชนะหมายถึงต้องยิงประตูมากกว่าเขา) เช่น ปีนเขาลูกใดสำเร็จ โดดข้ามตึกใด ฯลฯ และเป็นการหลีกหนีจากความจำเจแน่นอนของงานประจำในชีวิต และทำให้มี lifestyle (แบบแผนการดำเนินชีวิต) ที่เป็นพิเศษ โยงใยกับกีฬานั้นๆ

ตัวอย่างเช่น ขี่จักรยานภูเขาทำให้จำเป็นต้องมี lifestyle ชนิดที่ผูกพันกับธรรมชาติ ป่าเขาลำเนาไพร หรือการชอบปีนเขาในสถานที่แปลกใหม่ ทำให้มี lifestyle ของการเป็นผู้ชอบเดินป่าหรือกีฬา wake-boarding หรือดำน้ำทำให้เป็นผู้ชอบทะเล ชื่นชมการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ยิ่งผู้คนเบื่อหน่ายกฎเกณฑ์กติกาไม่ว่าของที่ทำงานหรือของสังคมมากเท่าใด หรือเบื่อความจำเจของชีวิตมากเท่าใด โอกาสที่จะเล่นกีฬา extreme sports ก็มีมากเพียงนี้

มีงานสำรวจอีกชิ้นหนึ่งพบว่า เด็กอังกฤษวัย 11-14 ปี ชอบเล่นสเก๊ตแบบที่เป็นล้อ แถวเดียววิ่งเป็นวงร้อยละ 27 ชอบเล่น skateboarding ร้อยละ 21 ชอบขี่จักรยานภูเขา ร้อยละ 18 ชอบปีนเขา ร้อยละ 10 และชอบ snowboarding (แผ่นบอร์ดที่ลื่นไหลบนหิมะ) ร้อยละ 6 เป็นที่น่าสังเกตว่าไม่มีกีฬาที่คนอังกฤษเล่นกันมาเป็นร้อยๆ ปีแล้ว เช่น ฟุตบอล รักบี้ หรือคริกเก็ต อยู่เลย

ผู้เชี่ยวชาญบอกว่ามนุษย์แคร์กับการมองของผู้อื่น เมื่อพรรคพวกของตนหรือกลุ่มสังคมที่ตนคุ้นเคยชื่นชอบกีฬาประเภทนี้และรู้สึกต่อต้านกฎเกณฑ์ร่วมกัน ตนเองก็จะถูกชักนำให้ ชื่นชอบกีฬาประเภทนี้ไปด้วย ดังนั้น ความนิยม extreme sports จึงขยายเป็นวงกว้างคู่ขนานไปกับยุค liberalization และ anti-institution (ต่อต้านสถาบัน)

กีฬาใหม่ล่าสุดของ extreme sports มีชื่อว่า parkour หรือ free running (วิ่งเสรี) เป็นการผสมผสานยิมนาสติก ปีนเขา และความกล้าบ้าบิ่น (ที่ปกติกระทำโดยพวกตัวแสดงแทนหรือ stuntmen) ผู้เล่นต้องกระโดดข้ามตึกใกล้เคียง ปีนป่ายสิ่งก่อสร้างในเมือง ที่มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมแตกต่างกันออกไป (เช่น ไต่ข้างตึกสูง ไต่เสาสูง ฯลฯ) ขณะนี้เริ่มมีเล่นกันในลอนดอนและเมือง Edinburgh

การที่คนเหล่านี้ยอมแลกความเสี่ยงกับการเล่น extreme sports ที่ extreme (สุดโต่ง) เช่นนี้ก็เพราะลึกๆ แล้วต้องการแสดงออกซึ่งความไม่พอใจต่อความจำเจแน่นอนของชีวิตในสายตาของเขา เมื่อเขากล้าที่จะเลือกรับความเสี่ยง เราคงต้องยอมรับพฤติกรรมแปลกๆ (ในสายตาของพวกเรา) ของเขาบ้างกระมังครับ